จำนวนผู้เข้าชม

หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พูดจาดีมีสง่า


พูดจาสง่างาม

โบราณเคยบอก "พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย" หลายคนมาแผลงเป็น "พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะมีสี" จะยึดคำกล่าวไหนก็ได้ค่ะ เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่การ "พูดให้ดี"ทำไมต้องพูดให้ดี... เพราะการพูดให้ดีนั้น ฟังแล้ว "เข้าหู" ชวนฟัง ชวนให้คล้อยตาม ชวนให้รู้สึกประทับใจและก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ตามมาได้อีกมากมาย

การพูดเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตค่ะ เพราะตลอดทั้งชีวิต เราต้องอาศัยการพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ พูดไม่เป็น พูดไม่เข้าหูคน หรือพูดแล้วคนอยากพาไป "ผ่าสุนัขออกจากปาก" อย่างที่เขาล้อ ๆ กันนั้น ท่าทางชีวิตจะย่ำแย่ ดังนั้นมาเรียนรู้การพูดการจาให้เป็นสง่าราศีแก่ชีวิตดีกว่าค่ะ

1.คนจะพูดดีได้ต้องเริ่มจากคิดดีไม่มีประโยชน์ที่เราจะเริ่มต้นจากการคิดร้ายแม้กับคนที่เราไม่ถูกชะตาด้วยที่สุด ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องพูดจาไม่ดีกับเขา การคิดดี ถือเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ เป็นพื้นฐานของจิตใจที่ดีงาม ใครก็ตามที่รู้จักคิดดี เขาก็จะเห็นแง่งามของโลกของชีวิต ของตนเอง และของผู้อื่น เมื่อเห็นแง่งามหรือแง่ดีของสิ่งต่าง ๆ เขาก็ย่อมมีทัศนคติที่ดี มีท่าทีที่ดีและเมื่อต้องพูดจากเสวนากัน เขาก็ย่อมพูดจาดี การพูดจาดี ไม่เพียงแต่สะท้อนการให้เกียรติและเคารพในตัวคนอื่น แต่ยังสะท้อนการให้เกียรติและเคารพตนเองอีกด้วย คนจะพูดจาดีได้ต้องรับการอบรมมาดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ดิฉันขอย้ำอีกครั้งว่า บุคลิกภาพดี ๆ เริ่มต้นที่ครอบครัว การพูดจาดีก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องเริ่มจากในบ้าน พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างของคนที่พูดจาดี ๆ ต่อกัน ต้องเป็นผู้ชี้แนะคุณค่าของการพูดดี พูดดีในที่นี้หมายความว่าอะไร หมายความว่าพูดเพราะ พูดคำสุภาพ มีน้ำเสียงที่สุภาพ มีหางเสียงครับ ค่ะ จ๊ะ จ้ะ เพื่อแสดงความมีมารยาท มีไมตรีจิต ไม่พูดคำหยาบ ไม่ใส่ร้าย ไม่ตะคอกตะเบ็งใส่กัน ไม่ประชดประชัน ไม่โกหกพกลม คนจะพูดดีเช่นนี้ได้จะคิดร้ายอยู่ในใจไม่ได้แน่นอนเพราะความร้ายกาจในใจจะเผยมาทางคำพูด น้ำเสียง แววตา หรือท่าทีขณะที่พูดได้ จึงจำเป็นต้องฝึกตนให้เป็นคนคิดดี

2.พูดถูกกาลเทศะ ไม่ใช่ตลอดเวลาหรอกค่ะ ที่คนเราจะพูดได้ ต้องมีบ้างบางขณะที่เราหยุดพูด เพื่อเป็นผู้ฟังคนอื่นพูดบ้าง คนบางคนถูกตั้งข้อสังเกตว่า "ผีเจาะปากมาพูด" คือพูด ๆๆๆๆ ฟังไม่เป็น ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นพูด ทำตัวเป็นผู้รู้ไปหมดทุกเรื่อง จึงพูดอยู่ตลอดเวลาคนแบบนี้น่ารำคาญ จริงไหมคะ อย่าทำตัวน่ารำคาญ ด้วยการพูดจาไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ดูวาระและโอกาส คนพูดเป็นจะรู้ว่าโอกาสไหนควรพูด โอกาสไหนควรฟัง และโอกาสไหนควรวางเฉย คนที่รู้จักพูดเขาจะดูสถานที่ และเลือกวิธีพูดจาให้เหมาะสมกับผู้ฟังและสถานที่ ผู้ฟังที่อาวุโสกว่าเรา เราต้องพูดด้วยท่าทีและน้ำเสียงอย่างหนึ่ง เป็นเพื่อนกันก็พูดอย่างหนึ่งเป็นน้องเป็นนุ่งเราก็ต้องพูดอีกแบบหนึ่ง พูดในที่ประชุมจะเหมือนพูดในกลุ่มเพื่อนไม่ได้ พูดคุยกับเพื่อนก็อย่าทำตัวน่าเบื่อเหมือนบรรยายวิชาการ การปรับตัวหรือพลิกแพลงตามสถานการณ์ที่ต่างกันไปเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ หลักการพูดให้ถูกกาลเทศะทำได้ง่าย ๆ คือ ดูว่าเราต้องพูดในหัวข้อไหน เรื่องอะไร พูดที่ไหน ใครฟัง ผู้ฟังกี่คน ฟังกันในที่เปิดเผยหรือในห้องจำกัด พูดสั้นหรือพูดยาว จริงจังหรือกันเอง ใครอ่านสถานการณ์ออก เตรียมตัวพร้อม ก็สามารถพูดจาได้น่าจดจำตามวาระและโอกาสนั้น ๆ ได้เสมอ
3.พูดมีเนื้อหาสาระ ห้ามพูดเรื่อยเปื่อย ไม่ว่าจะคุยกันกับเพื่อน ผู้ร่วมงานพ่อแม่ หรือพูดในที่ประชุมหรือที่สาธารณะ ก็ต้องมีเป้าหมายในการพูด พูดอย่างมีสาระ มีขอบเขตชัดเจนว่าต้องการสื่อสารเรื่องอะไร หรือต้องการจะบอกกับผู้ฟังว่าอะไร
4.พูดจาให้น่าฟังน้ำเสียงที่กังวานแจ่มใส ดังพอประมาณ พูดจาฉะฉานชัดเจน จะดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้มาก การพูดในบ้างครั้งต้องพูดปากเปล่า แต่บ่อยครั้งก็ต้องพูดผ่านไมโครโฟน หากมีโอกาสฝึกฝนเรื่องการใช้เสียงอย่างเหมาะสมทั้งแบบปากเปล่าและผ่านไมโครโฟนได้ ก็ควรทำ เพราะการพูดผ่านไมโครโฟนนั้น ต้องมีระยะใกล้ไกลระหว่างปากกับไมโครโฟนที่พอเหมาะ เสียงจึงจะชัดเจน ไม่มีเสียงเสียดแทรกจนผู้ฟังรู้สึกไม่สบายหู หรือรำคาญ ในการพูดนั้น ควรมีการเน้นจังหวะและเว้นจังหวะเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ชวนติดตาม ควรฝึกลมหายใจระหว่างการพูดอย่างให้ติดขัด ดูเหมือนหอบเหนื่อย หรือกักลมหายใจจนผู้ฟังเห็นแล้วอึดอัด หรือรู้สึกเหนื่อยแทน การออกเสียงอักขระ ร.เรือ ล.ลิง และคำควบกล้ำต้องชัดเจน ลองฝึกอ่านออกเสียง หรือพูดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเทป แล้วเปิดฟังบ่อย ๆ จะพบข้อบกพร่องและแก้ไขได้ง่าย

5.พูดให้เกิดความรู้สึกร่วม วิธีการง่าย ๆ คือ สบตากับผู้ฟังอย่างทั่วถึง ตั้งคำถามในขณะพูดแล้วค่อย ๆ อธิบายเพื่อนำไปสู่คำตอบ สอบถามผู้ฟังบ้างในบางหัวข้อที่ง่าย ๆ หรือเป็นเรื่องของประสบการณ์ เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ไม่ใช่เรื่องซึ่งเมื่อตอบแล้วอาจถูกหรือผิดผู้พูดจำเป็นต้องรู้พื้นภูมิของผู้ฟังบ้าง เพื่อพูดในภาษาที่เขาเข้าใจง่าย บางครั้งการพูดด้วยสำเนียงท้องถิ่นก็ทำให้ผู้ฟังรู้สึกดี รู้สึกเป็นกันเอง อย่าพูดไทยผสมกับภาษาต่างประเทศโดยไม่อธิบาย เลือกใช้ภาษาต่างประเทศเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และยกตัวอย่างที่คาดว่าผู้ฟังน่าจะมีประสบการณ์ร่วม อย่ายกตัวอย่างไกลตัว การพูดเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของคนเรา เป็นภาพฟ้องอุปนิสัยใจคอ จึงไม่อาจพูดจาเรื่อยเปื่อย ไร้จุดหมาย ไร้การระมัดระวังได้ การพูดนำมาซึ่งมิตรและศัตรู แต่ก็นั่นแหละ เราเลือกได้นี่คะว่าจะพูดให้ได้เพื่อน หรือพูดให้ได้ศัตรูการพูดทำให้คนเราดูดีหรือดูแย่ได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราเลือกอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น