รำเหย่อย
รำเหย่อย
ประวัติความเป็นมา
รำเหย่อย เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของไทยที่นิยมเล่นกันในบางหมู่บ้าน บางท้องถิ่นของภาคกลางนอกตัวจังหวัดเท่านั้น ไม่สู้จะแพร่หลายนัก การละเล่นประเภทนี้ดูแทบจะสูญหายไป กรมศิลปากรได้พิจารณาเห็นว่าการเล่นรำเหย่อยมีแบบแผนการเล่นที่น่าดูมาก ควรรักษาให้ดำรงอยู่และแพร่หลายยิ่งขึ้น จึงได้จัดส่งคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปรับการฝึกหัดและถ่ายทอดการละเล่น เพลงเหย่อยไว้จากชาวบ้านที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2506 แล้วนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในโอกาสที่รัฐบาลจัดการแสดงถวายสมเด็จพระรามา ธิบดีแห่งมาเลเซีย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2507
คำร้องแต่งขึ้นตามแบบแผนของการรำเหย่อยใช้ถ่อยคำพื้น ๆ ร้องโต้ตอบกันด้วยกลอนสด เป็นการร้องเกี้ยวกันระหว่างชายหญิงมุ่งความสนุกเป็นส่วนใหญ่รำเหย่อยนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พาดผ้า”
ลักษณะการแสดง
ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นยิ่งมากยิ่งสนุกสนาน โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายชายกับหญิงแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร้อง ซึ่งจะประกอบด้วยพ่อเพลง แม่เพลง ลูกคู่ และผู้รำ เริ่มจากการประโคมกลองอย่างกึกก้องเพื่อให้ผู้เล่น และผู้ดูเกิดความรู้สึก สนุกสนานจากนั้นจังหวะก็เริ่มช้าลง เมื่อเริ่มเล่นฝ่ายชายก็จะออกมาร้อง และรำ แล้วเอาผ้าไปคล้องไหล่ให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงเมื่อถูกคล้องผ้าก็จะออกมารำ
โอกาสที่แสดง
จะนิยมเล่นในเทศกาลวันตรุษสงกรานต์ งานนักขัตฤกษ์ งานมงคลและงานรื่นเริงของชาวบ้าน โดยเฉพาะในเขตอำเภอพนมทวนเช่น บ้านทวน บ้านห้วยสะพาน บ้านทุ่งสมอ บ้านหนองปลิง บางครั้งก็จะเป็นการเล่นประกอบการเล่นพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น การเล่นลูกช่วงรำ ลุกช่วงขี้ข้า หรือประกอบการเล่นเหยี่ยวเฉี่ยวลูกไก่
การแต่งกาย
ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นบ้านภาคกลาง ชายนุ่งผ้าโจงกระเบนต่าง ๆ สีกัน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นเหนือศอก มีผ้าคาดเอวและพาดไหล่ หญิงนุ่งผ้าพิมพ์ลายโจงกระเบนหลากสีกัน สวมเสื้อคอกลมแขนยาว ห่มสไบทับเสื้อ มีเครื่องประดับ มีเครื่องประดับ เข็มขัด สร้อยคอ สร้อยข้อมือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น