หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 ที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนสุดท้องของนายสิน และนางยิ้ม ศิลปบรรเลง ท่านเป็นผู้มีความสามารถและรักทางดนตรีมาตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถตีฆ้องวงได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ได้เริ่มหัดเรียนดนตรีจากบิดาในวิชาปี่พาทย์อย่างเอาจริงเอาจัง ท่านได้ออกงานใหญ่ครั้งแรกในงานโกนจุก เจ้าจอมเอิบ และเจ้าจอมอบ ธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ จังหวัดเพชรบุรี ท่านได้แสดงฝีมือ ระนาดเอก จนเป็นที่เลื่องลือกันในหมู่นักดนตรี ใน พ.ศ. 2443 กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์ วรเดช เอาตัวไปเป็นมหาดเล็กเพราะทรงพอพระทัยในฝีมือการบรรเลง ในปี่ พ.ศ. 2451 หลวงประดิษฐ์ไพเราะนั้นคือ จางวางศร ศิลปบรรเลง ได้จำเพลงชวามาหลายเพลง (จากคราวที่ได้มีโอกาสไปชวา) ได้รำมาเรียบเรียงแต่งขึ้นเป็นเพลงตามหลักดุริยางค์ไทย เช่นเพลง "มูเซ็นซ๊อค) และ "ยะวา" เป็นต้น พร้อมกับได้นำอังกะลุง เข้ามาเล่นเพลงไทยเป็นคนแรกโดยนำมาฝึกมหาดเล็กในวังบูรพาภิรมย์จนสามารถนำออกแสดงครั้งแรกหน้าพระที่นั่งในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดราชาธิวาส เป็นเหตุให้เกิดการเล่นอังกะลุงกันอย่างแพร่หลายตราบเท่าทุกวันนี้ ในปี พ.ศ. 2458 จางวางศร ได้นำเพลง "เขมรเขาเขียว" 2 ชั้น ของเก่ามาประดิษฐ์เป็น 3 ชั้น ใช้ทำนองครออย่างอ่อนหวานผิดกว่าเพลงที่เคยบรรเลงโดยทั่วไป และเรียกชื่อเพลง "เขมรเลียบนคร" ใน พ.ศ.2467 จางวางศรได้ประดิษฐ์ เพลงรับและร้อง เพลงโอ้ต่าง ๆ เพื่อบรรเลงในการเล่นพิธีเปิดประตูน้ำท่าหลวง จังหวัดสระบุรี และในสมัยนั้นท่านได้ปรับปรุงเพลงไทยเดิมต่าง ๆ ให้เป็นเพลงเถาขึ้นหลายสิบเพลงพร้อมทั้งปรับปรุงวงดนตรีไทยให้ดีขึ้น การแสดงแต่ละคราวนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างยิ่ง ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชทินนามและบรรดาศักดิ์ให้เป็น "หลวงประดิษฐ์ไพเราะ" และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญราชรุจิด้วย ต่อมาได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นปลัดกรมปี่พาทย์หลวง กระทรวงวัง พอถึงรัชกาลที่ 7 หลวงประดิษฐ์ไพเราะร่วมกับหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) ได้รับราชการเป็นผู้ถวายวิชาดนตรีไทยแด่รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระบรมราชินี และในคราวตามเสด็จไปอินโดจีน พ.ศ.2473 ก็ได้ศึกษาเพลงเขมรมาหลายเพลงเช่น เพลง "นกเขาขะแมร์" "ศรีโสภณ" "ซองซาประเค๊ป" "เดรอว" " อังโกเลี้ยก" ในปี พ.ศ. 2472 ได้เป็นหัวหน้าบอกทำนองในคราวบันทึกไทยลงเป็นโน้ตสากล ณ วังวรดิศ ท่านเป็นผู้มีพรสวรรค์ดนตรี มีสติปัญญา และฝีมือในทางดนตรี มีความขยันหมั่นเพียร จนมีฝีมือชื่อเสียงในวงการดนตรีไทย ท่านเป็นนักดนตรีที่มีโชคในทุก ๆ ทาง เป็นผู้ได้บรรลุแล้วซึ่งความสำเร็จในชีวิต นับแต่เกิดได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากบิดามารดาได้ศึกษาเล่าเรียน ครั้นเติบใหญ่ก็มีความสามารถพิเศษในการดนตรี เจ้านายทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้ได้บวชเรียน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร 1 พรรษา ต่อจากนั้นก็ทรงพระกรุณาจัดการแต่งงานให้กับ นางสาว โชติ หุราพันธ์ ธิดาพันโท พระประมวล ประมาณผล ในด้านชีวิตครอบครัวท่านก็สามารถสร้างหลักฐานบ้านช่องได้อย่างมั่นคง เพราะมีภริยาที่ดีสามารถในการจัดการบ้านเรือนและอื่น ๆ โดยที่ท่านไม่ต้องมาเป็นกังวล จึงกล่าวได้ว่า "ชีวิตของท่าน คือดนตรี และ ดนตรีคือชีวิตของท่าน ท่านใช้เวลาของท่านอย่างเต็มที่ประมาณ 60 ปี สร้างสรรค์ ดุริยางศิลป์ให้แผ่ไพศาล กล่อมชาติไทยด้วยเพลงไพเราะ ท่านได้แต่งเพลงไว้มากมายจำนวนถึงกว่าร้อยเพลง ท่านเป็นนักดนตรีที่มีความคิดใหม่ ๆ แปลก ๆ ในการที่จะปรับปรุงการดนตรีไทยให้ดียิ่งขึ้น เช่น เป็นต้นตำรับเพลงกรอที่มีลีลาอันไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งได้แก่ เพลงเขมรเลียบนคร , เขมรพวง, ไส้พระจันทร์ ฯลฯ เป็นต้นตำรับการเปลี่ยนแปลงเพลงเป็นทางต่าง ๆ ซึ่งได้แก่เพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า , ลาวเสี่ยงเทียน, ช้างประสานงา และเพลงโอ้ต่าง ๆ เป็นต้นตำรับการเดี่ยวขิม 7 ตัว และเดี่ยวระนาด 2 ราง เป็นต้นกำเนิดเพลงที่มีลูกนำขึ้นต้น และเพลงที่แสดงความหมายของธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งได้แก่เพลง แสนคำนึง เพลงตับภมริน และนกเขาขะแมร์ ฯลฯ ท่านยังเป็นผู้นำเพลงไทยเข้าไปเผยแพร่ในกัมพูชา เป็นผู้นำอังกะลุงของชวาเข้ามาเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงใช้บรรเลงในประเทศไทยเป็นคนแรก เป็นผู้ริเริ่มการแต่งเพลง 3 ชั้น เพลง 4 ชั้น คือเพลงพม่าห้าท่อนสี่ชั้น พราหมณ์ดีดน้ำเต้า 4 ชั้น ดาวจระเข้ 4 ชั้น และเพลงเขมรไทยโยค 4 ชั้น นอกจากนี้ยังเคยนำทางเดี่ยวขิมเพลงแป๊ะ ให้นักเรียนนาฏศิลป์กรมศิลปากร บรรเลงด้วยขิมหลายสิบตัวพร้อมกัน
เพลงทุกเพลงที่ท่านแต่งล้วนมีทำนองไพเราะน่าฟัง และมีลีลาพิศดารแปลกกว่าผู้อื่น ทำให้เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย ท่านเป็นผู้มีความจำดี มีเชาว์และปฏิภาณในวิชาดนตรีอย่างล้ำเลิศ สามารถจำเพลงต่างๆ ได้เป็นพัน ๆ เพลงโดยไม่ต้องอาศัยโน้ต เพลงที่ท่านแต่งโดยใช้ปฏิภาณ เช่นเพลงอะแซหวุ่นกี้ ท่านเป็นครูสอนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชินี โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และที่คุรุสภา การสอนการถ่ายทอดความรู้ของท่านเป็นยาอายุวัฒนะของท่าน ท่านสอนได้เกือบทุกเครื่องบรรเลงตลอดจนการขับร้อง ศิษย์ของท่านเป็นผู้มีฝีมือ เป็นต้นว่าครูบุญยง เกตุคง และครูประสิทธิ์ ถาวร มือระนาดเอกมือหนึ่งของไทย นอกจากนี้ยังมี ท่านศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ครูโองการคลับชื่น อาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ศิษย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการประพันธ์ ประวัติศาสตร์และวรรณคดี
เมื่ออายุย่าง 72 ปี ท่านมีสุขภาพทรุดโทรมลงตามวัย และได้ล้มเจ็บลงด้วยโรคลำไส้และโรคหัวใจ ท่านได้ถึงแก่กรรม ณ บ้านศิลปบรรเลง ถนนบริพัตร พระนคร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 เวลา 19.45 น. รวมอายุ 72 ปี 7 เดือน 2 วัน มรณกรรมของท่านเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของชาติ ควรแก่การสรรเสริญ การทนุถนอม และนับถือว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติอันสูงส่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น