อาณาบริเวณทางภาคเหนือของไทย ที่เรียกกันว่า “ล้านนา” นั้น ประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน เคยมีประวัติอันซับซ้อนและยาวนานเทียบได้กับสมัยสุโขทัย เคยมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้พระยากาวิละ ซึ่งเป็นผู้ครองเมืองลำปางขึ้นไปปกครองเชียงใหม่ อันถือว่าเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การแสดงพื้นเมืองของภาคเหนือมีความเด่นอยู่ในรูปแบบที่เป็นตัวของตัวอย่างอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าเคยตกอยู่ในอำนาจของรัฐอื่นๆ มาบางระยะบ้าง ก็มิได้ทำให้รูปแบบของการแสดงต่าง ๆ เหล่านั้นเสื่อมคลายลง ส่วนที่ได้รับอิทธิพลก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับการประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบของล้านนาดั้งเดิมอย่างน่าชมเชยมาก แสดงว่าสามารถรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์
ลักษณะทั่วไปทางสังคม
ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในภาคเหนือ ยึดมั่นอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีเช่นเดียวกับชาวภาคอื่น ๆ แต่ภาษาถิ่นและส่วนลึกๆ ของขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างก็แตกต่างกันไปตามลักษณะของภูมิภาค เช่น ในงานฉลองสมโภชที่เรียกกันว่า “ปอย” ก็ยังมีชื่อเฉพาะเป็นงานๆ ไป มีปอยน้อย ซึ่งหมายถึงงานเฉพาะครอบครัววงศาคณาญาติ หรือภายในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกัน และปอยหลวง ซึ่งหมายถึงงานใหญ่ที่มีการสมโภช หรืองานฉลองใหญ่ๆ ที่ทำร่วมกันทั้งหมู่บ้าน อาจเป็นงานมหกรรมติดต่อกันหลายวัน เป็นต้น
ส่วนพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ก็ถือกันมาช้านาน มีประเพณีเรียกขวัญ ประเพณีสืบชะตา ประเพณีส่งเคราะห์ ประเพณีทานตุง ประเพณีใส่บาตรเพ็งพุธ ฯลฯ เป็นต้น พิธีกรรม ที่จัดเฉพาะแต่ละประเพณีเพื่อสนองตอบความมุ่งหมายนั้นๆ เช่น ประเพณีสืบชะตา ก็จะจัดสิ่งของเฉพาะ มีการบอกข้าว กระบอกทราย กระบอกน้ำ สะพาน ลวดเงิน ลวดทอง ไม้ง่าม ทำกระโจมสามขาให้ผู้เข้าพิธีนั่งอยู่ตรงกลางส่วนของกระโจม โยงสายสิญจน์ติดขากระโจมเข้ากับขันน้ำมนต์ที่ตั้งอยู่หน้าพระพุทธรูป มีกระสงฆ์สวดพระปริตร แล้วเอาด้ายสายสิญจน์ผู้ข้อมือ สิ่งของต่างๆ ที่เข้าพิธีนำเอาไปที่วัด แสดงให้เห็นว่าประเพณีบางอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นแม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็แตกต่างกันในส่วนประกอบอื่นๆ อีกแบบหนึ่ง
การยึดมั่นในศาสนาจะเห็นได้ว่ามีความมั่นคงและเกาะเกี่ยวกับชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง นอกจากจะเป็นไปตามประเพณีทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังแฝงความเชื่อถือในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ด้วย เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการทำไรทำนา มีการเลี้ยงขุนน้ำ คำว่า “ผี” ก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีเทวดาเป็นต้นนั่นเอง ส่วนคำว่า “ขุน” คือการควบคุมน้ำให้ไหลตามปกติ ไม่มาก ไม่น้อย จึงต้องจัดเครื่องพลีกรรมอันประกอบด้วย หัวหมู เหล้า ข้าวเหนียวนึ่ง หมาก เมี่ยง บุหรี่ ดอกไม้ ธูป เทียน แล้วมีหัวหน้าทำหน้าที่พิธีกร กล่าวมอบสิ่งของให้แก่ผีซึ่งเปรียบดุจเทพารักษ์ดูแลควบคุมน้ำ แล้วจึงเอาเครื่องพลีกรรมมาประกอบอาหารเลี้ยงดูกันต่อไป ซึ่งเรียกตามภาษาถิ่นว่า “กินข้าวซากผี” ถือกันว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง
ประเพณียี่เป็ง ของชาวเหนือ
อย่างไรก็ตาม นาฏดุริยางคสังคีตย่อมเกี่ยวเนื่องผูกพันอยู่กับสังคม ดังนั้น เมื่อมีการปฏิบัติทางสังคมเกิดขึ้น ก็จะมีการสมโภชฉลองด้วยการประโคมดนตรีแบบต่างๆ และร่ายรำตามจังหวะทำนองของเพลงนั้น ๆ และถ้าในสังคมนั้นมีชนชั้นสูงระดับเจ้าเมือง พระราชา หรือกษัตริย์ ก็ยิ่งจะต้องมีกิจพิธีที่จะต้องปฏิบัติมากขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับสังคมไทยภาคเหนือหรือล้านนาไทยนั้น จารีตประเพณีและวัฒนธรรมก่อให้เกิดศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เอื้อต่อพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นดนตรี การเล่น ฟ้อนรำ เช่น การแห่แหนที่มีดนตรีประกอบ ฟ้อนต่างๆ กล่องปุ่มผึ้ง กล้องเต่งถิ้ง เครื่องประโคมตามแบบรามัญสมัยโบราณ ที่ใช้เป็นเครื่องแห่อยู่ในปัจจุบันยังมีกลองแอวหรือกลางติ่งโนงใช้ประโคม หรือเข้าขบวนแห่ในงานฉลอง ตลอดจนดนตรีต่าง ๆที่ใช้ประกอบการฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน เป็นการฟ้อนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จะเห็นได้จากขนบประเพณีต่างๆ ตลอดระยะเวลา ๑๒ เดือน เช่น การขับซอที่มีคำว่า “นายเฮยเดือนแปด มาบ่ายเดือนห้า อ้ายจะน้อยเหน้า แป๋งแอกแป๋งไถ...” หรือเพลงปั่นฝ้ายแถบเมืองน่านเมืองแพร่ที่ว่า “ปั่นฝ้าย หื้อมันเป็นใย จะทอผ้าใบ หื้อป้อละอ่อน... ปั่นฝ้ายหื้อมันดีดี เอาเตอะสาวจี่ ปั่นฝ้ายเหี่ยใหม่...” ศิลปะการร้องรำทำเพลงจึงช่วยให้ทราบถึงพฤติกรรมในสังคมที่ปฏิบัติจนเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสืบมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น