เพลงบอกเป็นเพลงพื้นเมืองที่นิยมเล่นแพร่หลายที่สุดในสมัยก่อน เมื่อถึงหน้าสงกรานต์ยังไม่มีปฏิทินบอกสงกรานต์แพร่หลายอย่างปัจจุบัน จะมีแม่เพลงนำรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์ออกป่าวประกาศแก่ชาวบ้าน โดยร้องเป็นเพลงพื้นบ้านและมีลูกคู่รับเป็นทำนองเฉพาะ จึงมีชื่อเรียกว่าเพลงบอก กลอนเพลงบอกดัดแปลงมาจากเพลงพื้นบ้านโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเพลงเห่ หรือเพลงฉะ บ้างก็เรียกเพลงแปดบท เพลงชนิดนี้จะมีแม่เพลงว่าเป็นแบบกลอนด้น ครั้งละ ๒ วรรค แล้วลูกคู่รับดะ กลอนแปดบทเฟื่องฟูอยู่ทาง นครศรีธรรมราชประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ ปีที่แล้ว และมีการดัดแปลงมาเป็นลำดับ จนถึงรัชกาลที่ ๕ พระรัตนธัชมุณี เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ได้จัดระเบียบกฏเกณฑ์กลอนเพลงบอกขึ้นใหม่ โดยจะมีการรับของลูกคู่และอาจแทรกวลีหรือถ้อยคำระหว่างกลอนที่แม่เพลงกำลังว่าอยู่ เพื่อให้ลีลากลอนครึกครื้นสนุกสนาน และช่วยแก้ปัญหาการติดกลอดของแม่เพลงได้ วิธีการนี้ของลูกคู่เรียกว่า "ทอยเพลงบอก" ในปัจจุบันนอกจากมีการว่าเพลงบอก เพื่อบอกข่าวสงกรานต์แล้ว ยังนำไปเล่นในโอกาสอื่นๆ เช่น บอกข่าวประชาสัมพันธ์งานบุญงานกุศล เพลงบอกร้องบวงสรวงในพิธีกรรมต่างๆ เพลงบอกร้องชา เป็นต้น อุปกรณ์และวิธีการเล่น ๑. อุปกรณ์ เพลงบอกคณะหนึ่งมีแม่เพลง ๑ คนและลูกคู่อีก ๔ ถึง ๖ คน มีฉิ่งเป็นดนตรีประกอบเพียงอย่างเดียว การร้องเพลงบอกใช้ภาษาถิ่นปักษ์ใต้ โดยร้องด้นเป็นกลอนสดแท้ ๆ ใช้ปฏิภาณร้องไปตามเหตุการณ์ที่พบเห็น แม่เพลงต้องมีความรอบรู้ไหวพริบดี และฝึกฝนจนแม่นยำในเชิงกลอน ๒. วิธีการเล่น สำหรับวิธีการขับเพลงบอก เมื่อแม่เพลงร้องจบวรรคแรกลูกคู่ก็รับครั้งหนึ่งโดยรับว่า "ว่าเอ้ว่าเห้" พร้อม ๆ กับจะต้องคอยตีฉิ่งให้เข้ากับจังหวะ ถ้าหากแม่เพลงว่าวรรคแรกซ้ำอีก ลูกคู่ก็จะรับว่า "ว่าทอยช้าฉ้าเหอ" และเมื่อแม่เพลงว่าไปจนจบบทแล้ว ลูกคู่จะต้องรับวรรคสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างกลอนเพลงบอกประชัน ตอนที่ปานบอดได้โต้ตอบกับเพลงบอกรุ่งอันแสดงถึงความสามารถในเชิงเพลงบอก รุ่ง : กูไม่เป็นเวสสันดร (รับ)) เพราะจะเดือดร้อนที่สุด กูจะเป็นนายเจตบุตร ที่ร่างกายมันคับขัน (รับ) คอยยิงพุงชูชก (รับ) ที่สกปรกเสียครัน ถือเกณฑ์ขวางไว้ ไม่ให้มึงเข้าไป (รับ) ปาน : ดีแล้วนายเจตบุตร (รับ) เป็นผู้วิสุทธิ์สามารถ เป็นบ่าวพระยาเจตราช ที่เขาตั้งให้เป็นใหญ่ (รับ) ถือธนูหน้าไม้ (รับ) คอยทำลายคนเข้าไป เขาตั้งให้เป็นใหญ่ คอยเฝ้าอยู่ปากประตูป่า (รับ) คนอื่นอื่นมีชื่อเสียง (รับ) เขาได้เลี้ยงวัวควายแต่นายเจตบุตรรุ่งนาย เขาใช้ให้เลี้ยงหมา (รับ) ตัวอย่างการว่าเพลงบอกดังนี้ (แม่เพลง "รุ่ง") กูไม่เป็นเวสสันดร (ลูกคู่) ว่าเอ้ว่าเห้ เวสสันดร (แม่เพลง "รุ่ง") กูไม่เป็นเวสสันดร (ลูกคู่) ว่าทอยช้าฉ้าเหอ เวสสันดร (แม่เพลง "รุ่ง") เพราะจะเดือดร้อนที่สุด กูจะเป็นนายเจตบุตรที่ร่างกายมันคับขัน (ลูกคู่) ที่ร่างกายมันคับขัน กูจะเป็นนายเจตบุตร ที่ร่างกายมันคับขัน ผู้แสดง ใช้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างน้อย 6-7 คนหรือมากกว่านี้ก็ได้ ประกอบด้วยแม่เพลงและลูกคู่ การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมืองชาวภาคใต้ตามลักษณะชาวบ้านที่มีความเป็นอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ โอกาส/เวลาที่เล่น ๑. เพลงบอก นิยมเล่นกันในวันตรุษสงกรานต์ เป็นการบอกกล่าวป่าวร้องให้ชาวบ้านทุกละแวกได้ทราบว่าถึงวันขึ้นปีใหม่แล้ว โดยเฉพาะรายละเอียดการเปลี่ยนปี หรือการประกาศสงกรานต์ประจำปีซึ่งสมัยก่อนไม่ได้มีการพิมพ์ปฏิทินอย่างเช่นในปัจจุบัน พอถึงปลายเดือนสี่ย่างเดือนห้า ซึ่งเป็นระยะที่ชาวนาส่วนมากเก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งขึ้นฉางเสร็จแล้ว เวลาพลบค่ำตามละแวกบ้านจะได้ยินเสียงเพลงบอกแทบจะกล่าวได้ทุกหมู่บ้านของจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกตระเวณตามบ้านใกล้เรือนเคียงโดยมีบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้านนั้น ๆ เป็นคนนำทาง คอยไปปลุกเจ้าของบ้านให้เปิดประตูรับ เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูรับ แม่เพลงก็จะขับกลอนเพลงบอกขึ้นในทันที เนื้อความตอนแรกมักจะเป็นบทไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวชมเชยเจ้าของบ้านตามสมควร เจ้าของบ้านจะเชื้อเชิญขึ้นบนเรือน ยกเอาหมากพลู บุหรี่ เหล้ายาปลาปิ้งออกมาเลี้ยง ตอนนี้เพลงบอกจะว่าเพลงเล่นตำนานสงกรานต์ในปีนั้นให้ฟัง ถ้าเจ้าของบ้านพอใจก็จะให้รางวัล ๒. เพลงบอกเล่าเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ เช่น บอกข่าวเชิญไปทำบุญกุศลที่นั่นที่นี่ตามเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่าเพลงบอกเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการป่าวประกาศเรื่องต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบนั่นเอง เหตุผลก็คือในสมัยโบราณคนที่รู้หนังสืออ่านออกเขียนได้มีน้อยกิจการพิมพ์ก็ไม่แพร่หลาย ข่าวที่ใช้เพลงบอกเป็นสื่อจะได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากกว่าการสื่อสารธรรมดา เพราะฟังแล้วเกิดความสนุกด้วย ๓. เพลงบอกประชัน เป็นการโต้เพลงบอกให้ผู้ชมฟัง โดยการจัดเวที เพื่อประชันโต้ตอบ ไม่มีการกำหนดหัวข้อและเวลา แล้วแต่ใครจะหยิบยกเรื่องอะไรมาว่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเปรียบเทียบ และต้องว่าในทำนองข่มกัน หาทางโจมตีและกล่าวแก้ได้ทันควัน การตัดสินแพ้ชนะใช้เสียงผู้ชมเป็นหลัก โดยฟังจากเสียงโห่หรือโต้กันจนอีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้
คุณค่าและแนวคิด การเล่นเพลงบอกให้คุณค่าดังนี้ ๑. เป็นการใช้ภูมิปัญญาเพื่อประชาสัมพันธ์ประกาศบอกข่าวแก่ชาวบ้าน ในสมัยที่การสื่อสารยังไม่เจริญและไม่มีปฏิทินบอกวันเหมือนอย่างในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์และข่าวต่าง ๆ ๒. น้ำเสียง ถ้อยคำในการว่าเพลงบอก ให้ความครึกครื้นสนุกสนาน ข่าวที่มากับเพลงบอก จึงได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากกว่าบอกข่าวธรรมดา ปัจจุบันเพลงบอกจึงนำมาใช้บอกบุญ โฆษณาสินค้าต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง และเชิญชวนให้คนไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง ๓. นักว่ากลอนได้แสดงความสามารถในกลอนปฏิภาณ และศิลปะในการขับกลอน การประชันอวดฝีปากในเชิงกลอน ผู้ว่ากลอนต้องมีความรอบรู้ เฉลียวฉลาด หลักแหลม ไหวพริบดี และแม่นยำในเชิงกลอน นับเป็นวิธีการพัฒนาความรู้ของชาวบ้านได้อีกวิธีการหนึ่ง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น