รำกลองยาว
รำกลองยาว
ประวัติความเป็นมา
การเล่นเถิดเทิง มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นของพม่านิยมเล่นกันมาก่อน เมื่อครั้งพม่ามาทำสงครามกับไทย ในสมัยกรุงธนบุรี หรือสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาพักรบพวกทหารพม่าก็เล่นสนุกสนานด้วยการเล่น ต่าง ๆ ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น “กลองยาว” พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง ยังมีเพลงดนตรีเพลงหนึ่งซึ่งดนตรีไทยนำมาใช้บรรเลง มีทำนองเป็นเพลงพม่า เรียกกันมาแต่เดิมว่า เพลงพม่ากลองยาว ต่อมาได้มีผู้ปรับเป็นเพลงระบำ กำหนดให้ผู้รำแต่งตัวใส่เสื้อนุ่งโสร่งตา ศีรษะโพกผ้าสีชมพู (หรือสีอื่น ๆ บ้างตามแต่จะให้สีสลับกัน เห็นสวยอย่างแบบระบำ)มือถือขวานออกมาร่ายรำเข้ากับจังหวะเพลงที่กล่าวนี้ จึงเรียกเพลงนี้กันอีกชื่อหนึ่งว่า เพลงพม่ารำขวาน
อีกความหนึ่งมีผู้กล่าวว่า การเล่นเทิงบ้องกลองยาวนี้ เพิ่งมีเข้ามาในเมืองไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง กล่าวคือ มีพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาในรัชกาลนั้น ยังมีบทร้องกราวรำยกทัพพม่า ในการแสดงละครเรื่องพระอภัยมณี ตอน เก้าทัพ ซึ่งนิยมเล่นกันมาแต่ก่อน สังเกตดูก็เป็นตำนานอยู่บ้างแล้ว คือ ร้องกันว่า
ทุงเล ฯ ทีนี้จะเห่พม่าใหม่
ตกมาเมืองไทย มาเป็นผู้ใหญ่ตีกลองยาว
ตีว่องตีไวตีได้จังหวะ ทีนี้จะกะเป็นเพลงกราว
เลื่องชื่อลือฉาว ตีกลองยาวสลัดได ๆ
เมื่อชาวไทยเราเห็นเป็นการละเล่นที่สนุกสนานและเล่นได้ง่าย ก็เลยนิยมเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง สืบมาจนตราบทุกวันนี้ กลองยาวที่เล่นกันในวงหนึ่ง ๆ มีเล่นกันหลายลูกมีสายสะพายเฉวียงป่าของผู้ตี ลักษณะรูปร่างของกลองยาวขึงหนังด้านเดียวอีกข้างหนึ่งเป็นหางยาว บานปลายเหมือนกับกลองยาวของชาวเชียงใหม่ แต่กลองยาวของชาวเชียงใหม่เป็นกลองยาวจริง ๆ ยาวถึงประมาณ 2 วา ส่วนกลองยาวอย่างที่เล่นกันนี้ ยาวเพียงประมาณ 3 ศอกเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าของเชียงใหม่มาก ทางภาคอีสานเรียกกลองยาวชนิดนี้ว่า กลองหาง
กลองยาวแบบนนี้ของพม่าเรียกว่า โอสิ มีลักษณะคล้ายคลึงกับของชาวไทยอาหมในแคว้นอัสสัม เว้นแต่ของชาวไทยอาหมรูปร่างคล้ายตะโพน คือ หัวท้ายเล็ก กลางป่องใบเล็กกว่าตะโพน ขึ้นหนังทั้งสองข้าง ผูกสายสะพายตีได้ ตามที่เห็นวิธีเล่นทั้งกลองยาวของพม่าและกลองของชาวไทยอาหม ดูวิธีการเล่นเป็นแบบเดียวกัน อาจเลียนแบบการเล่นไปจากกันก็ได้
เมื่อรัฐบาลไทยมอบให้คณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปแสดงเพื่อเชื่อมสัมพันธ ไมตรี ณ นครย่างกุ้งและมัณฑเลย์ ระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน พ.ศ.2509 ทางรัฐบาลพม่าได้จัดนักโบราณคดีพม่าผู้หนึ่งเป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์สถานและ โบราณสถานเรื่องกลองยาวได้กล่าวว่า พม่าได้กลองยาวมาจากไทยใหญ่อีกต่อหนึ่ง
การละเล่นประเภทนี้ว่า เถิดเทิง เทิงบ้องนั้น คงเรียกตามเสียงกลองยาว กล่าวคือ มีเสียงเมื่อเริ่มตีเป็นจังหวะ หูคนไทยได้ยินเป็นว่า “เถิด-เทิง-บ้อง-เทิง-บ้อง” ก็เลยเรียกตามเสียงที่ได้ยินว่าเถิดเทิง หรือเทิงบ้องกลองยาวตามกันไป เพื่อให้ต่างกับการเล่นอย่างอื่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น