จำนวนผู้เข้าชม

หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี

นามเดิม ชื่อ แผ้ว นามสกุลเดิม คือ สุทธิบูรณ์

เกิด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ปีเถาะ

การศึกษา

พ.ศ. 2454 เมื่ออายุได้ 8 ปี ได้เข้าถวายตัวในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์ เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา โดยในชั้นต้นได้เข้าฝึกหัดนาฏศิลป์ต่อครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในราชสำนักขณะนั้น ได้ออกแสดงเป็นตัวเอก ในการแสดงถวายทอดพระเนตรหน้าพระที่นั่ง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง



พื้นความรู้วิชาสามัญ

จบการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนในวังสวนกุหลาบ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การสมรส

ต่อมาได้เป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

ด้านความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสังคมในต่างประเทศ

ได้เคยติดตามร่วมไปกับพลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี (ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์) เมื่อครั้งไปรับราชการเป็นทูตทหาร ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และโปรตุเกส

ความรู้ทางนาฏศิลป์

ได้รับการฝึกหัดอบรมจากครูนาฏศิลป์ในราชสำนัก เช่น เจ้าจอมมารดาวาด (ท้าววรจันทร์) ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาเขียน (ร.4) เจ้าจอมมารดาทับทิม (ร.5) หม่อมแย้ม (อิเหนา) ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริวงศ์ หม่อมอึ้ง ในสมเด็จพระบัณฑูรฯ จนมีความชำนาญและแสดงเป็นตัวเอกในการแสดงถวายทอดพระเนตรหน้าพระที่นั่งหลายเรื่อง เช่น เป็นตัวอิเหนา และนางดรสา ในเรื่องอิเหนา เป็นตัวทศกัณฐ์และพระพิราพในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นตัวนางเมขลาฯลฯ

การรับราชการ

เข้ารับราชการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาฝ่ายวิชานาฏศิลป์ของสถาบันการศึกษา องค์การ และเอกชนอื่นๆ

ผลงาน

ผลงานเกี่ยวกับการแสดงศิลปะนาฏกรรม เช่น ท่ารำของตัวพระ นาง ยักษ์ ลิง และตัวประกอบ การแสดงโขน ละครชาตรี ละครนอก ละครใน ละครพันทาง และระบำฟ้อนต่างๆ เป็นผู้คัดเลือกการแสดง จัดทำบทและเป็นผู้ฝึกสอน ฝึกซ้อม อำนวยการแสดงถวายทอดพระเนตรหน้าพระที่นั่ง ในวโรกาสต้อนรับพระราชอาคันตุกะ อาคันตุกร และงานของรัฐบาล หน่วยงานองค์กรต่างๆ จัดต้อนรับเป็นเกียรติแก่แขกผู้มาเยือนประเทศไทย เป็นผู้คัดเลือกตัวละครให้เหมาะสมตามบทบาทในการแสดงต่างๆ เป็นผู้คัดเลือกการแสดงวางตัวศิลปินผู้แสดงต่างประเทศเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นผู้ฝึกสอนและอำนวยการฝึกซ้อมในการแสดงโขน ละคร การละเล่นพื้นเมิง ระบำรำฟ้อนต่างๆ ที่กรมศิลปากรจัดแสดงแก่ประชาชน โรงละครแห่งชาติ สังคีตศาลา ในต่างจังหวัดและทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ตลอดทั้งร่วมในงานของหน่วยราชการ องค์กร สถาบันการศึกษา และเอกชน เป็นวิทยากรบรรยายและตอบข้อซักถามในการอบรมวิชานาฏศิลป์และวรรณกรรม และเป็นที่ปรึกษาในการสร้างนาฏกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นด้วย

ในด้านบทวรรณกรรมสำหรับใช้แสดง ได้ค้นคิดปรับปรุง เสริมแต่งให้เหมาะสมกับยุคสมัย ดำเนินไปโดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนอันมีมาแต่ดั้งเดิม เช่น บทละครเรื่องอิเหนา ตอนเข้าเฝ้าท้าวดาหา ตอนลมหอบ ตอนอุณากรรมชนไก่ ตอนบุษบาชมศาล ตอนศึกกระหมังกุหมิง ตอนประสันตาต่อนัก เรื่องสังข์ทอง ตอนเลียบเมือง ตอนเลือกคู่หาปลา ตอนตีคลี ตอนนางมณฑาลงกระท่อม เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก ตอนพระไวยแตกทัพ เรื่องไกรทอง ตอนที่ 1 ตะเภาแก้ว ตะเภาทอง และบริวารไปเล่นน้ำ ตอนที่ 2 ตามนางวิมาลากลับไปถ้ำ เรื่องพระอภัยมณี ตอนพบนางละเวง ตอนนางละเวงพบดินถนัน ตอนหนีนางผีเสื้อสมุทร เรื่องไชยเชษฐ์ ตอนนางสุวิญชาถูกขัน ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 เรื่องมโนราห์ บางตอนเกี่ยวกับพรานบุญ เรื่องรถเสนบาง เรื่องแก้วหน้าม้า ตอนถวายลูก เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ตอนท้าวเสนากุฏเข้าเมือง เรื่องเงาะป่า เรื่องคาวี ตอนได้นางใจกลองศึก เรื่องสุวรรณหงส์ ตอนเสี่ยงว่าว-ชมถ้ำ บทโขน ตอน ปราบกากนาสูร ตอนไมยราพสะกดทัพ ตอนศึกบรรลัยกัลป์ ตอนปล่อยม้าอุปการ

นอกจากนี้ ยังได้คิดประดิษฐ์กระบวนท่ารำขึ้นใหม่ไว้อีกมาก เช่น กระบวนท่าร่ายรำในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1-2 กระบวนท่าร่ายรำในการแสดงนาฏกรรมของกรมศิลปากร และกระบวนท่าร่ายรำชุดต่าง ๆที่กรมศิลปากรจัดแสดง

ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฏีมาลา เข็มศิลปวิทยา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ถึงแก่กรรมเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2543 อายุ 98 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น