จำนวนผู้เข้าชม

หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

นายมนตรี ตราโมท

นายมนตรี ตราโมท



นายมนตรี ตราโมท

นายมนตรี ตราโมท เป็นบุตรนายยิ้ม และนางทองอยู่ เกิดที่บ้านท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2443 เดิมชื่อ "บุญธรรม" ในสมัยที่มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการตั้งชื่อบุคคล ท่านจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "มนตรี" เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2485 สำหรับนามสกุล "ตราโมท" เป็นนามสกุลที่ พระองค์เจ้าคำรบ ประทานให้ มีสำเนียงล้อ "ปราโมช" ของพระองค์ท่าน

ครูมนตรีรับการศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี (ปรีชาพิทยากร) สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 3 เหตุที่ท่านมีโอกาสได้เป็นนักดนตรีไทยก็เพราะว่าบ้านของท่านอยู่ใกล้วัด สุวรรณภูมิ ซึ่งมีวงปี่พาทย์ฝึกซ้อมกันอยู่เป็นประจำ ท่านจึงได้ยินเสียงเพลงปี่พาทย์อยู่เสมอจนจำทำนองเพลงได้เป็นตอน ๆ ครั้นเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 แล้ว จึงคิดที่จะเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่ท่านมีโรคภัยไข้เจ็บรบกวนตลอดเวลา จึงเรียนไม่ทันเพื่อนฝูง เลยหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อ ในเวลานั้น ครูสมบุญนักฆ้องจึงชวนให้หัดปี่พาทย์ ซึ่งครูมนตรีก็มีใจรักอยู่แล้วจึงฝึกฝนด้วยความมานะพยายาม จนมีความคล่องแคล่วพอควร ท่านได้เป็น นักดนตรีปี่พาทย์ อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 2 ปี ต่อมาราวปี พ.ศ. 2456 ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ที่บ้านครูสมบุญ สมสุวรรณ ซึ่งมีทั้งปี่พาทย์และแตรวง ท่านจึงได้มีโอกาสฝึกหัดทั้งสองอย่าง เมื่อท่านอายุได้ 17 ปี ได้สมัครเข้ารับราชการในกรมพิณพาทย์ทอง กรมมหรสพ กรมมหาดเล็ก ที่กรมพิณพาทย์หลวง ท่านได้เรียนฆ้องวงใหญ่จากหลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) และเรียนกลองแขก จากพระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์)

ครูมนตรี มีฝีมือทางการบรรเลงฆ้องวง แต่เพื่อให้ท่านมีฝีมือในเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ อีก พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวง จึงให้ครูมนตรีเปลี่ยนเป็นครูตีระนาดทุ้ม ท่านได้รับเลือกให้เข้าประจำอยู่ในวงข้าหลวงเดิม ซึ่งเป็นวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อทรงเสด็จแปรพระราชฐานทุก ๆ แห่ง ทำให้ท่านเป็นผู้กว้างขวางในวงสังคมสมัยนั้น อันเนื่องมาจากการที่ได้สมาคมกับบุคคล ในฐานะต่าง ๆ นอกจากท่านจะมีฝีมือในการบรรเลงดนตรีแล้ว ท่านยังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีกด้วย ท่านแต่งเพลงมาแล้วมากมาย นับเป็นร้อย ๆ เพลง ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 เป็นต้นมา มีทั้งเพลง 3 ชั้น เพลงเถา เพลงประวัติศาสตร์ เพลงระบำและเพลงเบ็ดเตล็ด เคยมีผู้รวบรวมไว้ได้ถึง 200 กว่าเพลง นอกจากท่านจะแต่งเพลงดังกล่าวมาแล้ว ท่านยังเคยแต่งเพลงประกวดทั้งบทร้องและทำนองเพลงและได้รับรางวัล 1 เพลงนั้นชื่อว่า "เพลงวันชาติ" เมื่อ พ.ศ. 2483

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ครูมนตรี ตราโมทเป็นครูผู้กระทำพิธีไหว้ครู และครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาวิชาดนตรีไทยของกรมศิลปากร นอกจากท่านจะกระทำพิธีให้แก่กองการสังคีตและวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดแล้ว ท่านยังทำพิธีไหว้ครูดนตรีไทยให้แก่หน่วยราชการ สถานศึกษาและเอกชนทั่วไป

ครูมนตรีนอกจากจะมีความรู้และความสามารถในการแต่งเพลงและการบรรเลงดนตรีไทยแล้ว ท่านยังมีความรู้ทางโน๊ตสากลและดนตรีสากลอีกด้วย ซึ่งยิ่งช่วยเพิ่มความรู้ทางดนตรีไทยและการแต่งเพลงมากขึ้น ท่านรับราชการอยู่ที่แผนกปี่พาทย์หลวงได้ไม่นาน ก็เกิดการโอนวงปี่พาทย์และโขนละครไปสังกัดอยู่กับกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2478 ท่านจึงย้ายไปประจำโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ (คือวิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน)

ครูมนตรีรักการอ่านหนังสือทำให้ท่านมีความรู้กว้างขวาง ท่านชอบโคลงมาก ท่านจึงแต่งโคลงไว้มากมาย นอกจากนี้หนังสือประเภทสารคดีที่เกี่ยวกับวิชาการทางด้านศิลปะ ท่านก็ได้แต่งไว้หลายเรื่อง อาทิเช่น "ดุริยางค์ศาสตร์ไทยภาควิชาการ" "การละเล่นของไทย" "ศัพท์สังคีต" นอกจากนี้ก็มีเรื่องสั้น ๆ ที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือต่าง ๆ เช่น เรื่องปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์ชวา เครื่องสายไทย ดุริยเทพดนตรีกับชีวิต วงดนตรีประกอบการแสดงโขน ฯลฯ ท่านยังได้เขียนอธิบายความหมายของคำต่าง ๆ ในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานและเขียนเรื่องดนตรีไทยในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับ เยาวชนไทย เล่ม 1 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ หนังสือหลายเล่ม ท่านก็ได้มีส่วนเขียนเรื่องดนตรีไทย ภาพกลางลงพิพม์ในหนังสือชุดศิลปกรรมไทย หมวด "นาฏดุริยางคศิลป์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์" ด้วย

ผลงานทางด้านข้อเขียน ของครูมนตรี ที่ท่านภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อทางราชการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่จังหวัดสุพรรณบุรีแล้วเสร็จ ได้จัดให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเรียบเรียงข้อความที่จะจารึกเทิดทูนพระวีร เกียรติประวัติของพระองค์ โดยใช้ถ้อยคำแต่น้อยกินความมาก เพื่อให้พอเหมาะกับขนาดแผ่นจารึกที่ฐานพระราชานุสาวรีย์ ผลการคัดเลือกปรากฏว่า ข้อความของครูมนตรีได้รับการพิจารณาให้จารึกในแผ่นศิลาดังกล่าว

หน้าที่การงานของครูมนตรี เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนเลื่อนเป็นชั้นเอก ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งศิลปินพิเศษ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2504 นับเป็นศิลปินคนแรกของกรมศิลปากรที่ได้รับชั้นพิเศษ เมื่อท่านเกษียณอายุ กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่าท่านมีความรู้ ความสามารถในด้านวิชาการศิลปดุริยางค์ไทย จึงจ้างไว้ช่วยราชการต่อมาอีก 5 ปี จากนั้นก็จ้างในฐานะลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยกับคีตศิลป์ไทย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร นอกจากการทำงานประจำในหน้าที่ที่กรมศิลปากรแล้ว ท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนตามมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง

ครูมนตรี เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านเคยได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการมากมายหลายคณะ เช่น เป็นกรรมการตัดสินเพลงชาติ เป็นกรรมการศิลปะของสภาวัฒนธรรมเป็นประธานกรรมการการรับรองมาตรฐานวิทยาลัย เอกชน สาขาดุริยางคศิลปะของทบวงมหาวิทยาลัย เป็นรองประธานกรรมการตัดสินการอ่านทำนองเสนาะ เป็นกรรมการตัดสินคำประพันธ์เรื่องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำแบบเรียนวิชาดนตรีศึกษา ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ

ผลงานของครูมนตรี ตราโมท มีมากมาย ผลงานประเภทเพลง แต่งเพลงไทย ทั้งทำนองร้องและทำนองดนตรีในอัตราลักษณะต่างๆรวมแล้วนับร้อยเพลง เช่น

ก. เพลง 3 ชั้น

เพลงต้อยติ่ง, เพลงราโค, เพลงมหาฤกษ์, เพลงเหาะ, เพลงประพาสมหรณพ, เพลงขับไม้บัณเฑาะว์, เพลงขับนก, เพลงเขมรปี่แก้วทางสักวา, เพลงจรเข้หางยาวทางสักวา, เพลงเทพนม, เพลงเทพไสยาสน์, เพลงพระทอง, เพลงพญาสี่เถา, เพลงมอญล่องเรือ, เพลงสร้อยสน, เพลงนาคพัน, เพลงช้อนแท่น, เพลงพม่าห้าท่อนทางดึกดำบรรพ์ ฯลฯ

ข. เพลงเถา (เพลงหนึ่งเท่ากับ 3 เพลง เพราะมีทั้ง 3 ชั้น 2 ชั้น และชั้นเดียว)

เพลงกล่อมนารี, เพลงกาเรียนทอง, เพลงขอมทรงเครื่อง, เพลงขอมเงิน, เพลงเขมรเหลือง, เพลงขึ้นแท่น, เพลงแขกกุลิต, เพลงแขกต่อยหม้อ, เพลงจีนหน้าเรือ, เพลงแขกอะหวัง(ทางธรรมดา), เพลงต้นเพลงยาว, เพลงพม่าห้าท่อน(ทางภาษาต่างๆ, เพลงพม่าเห่, เพลงพระจันทร์ครึ่งซีก, เพลงภุมริน, เพลงมอญรำดาบ, เพลงโสมส่องแสง, เพลงแขกอะหวังทางชวา, เพลงสมโภชพระนครเถา, เพลงเทพสมภพเถา ฯลฯ

เพลง 2 ชั้นและชั้นเดียวที่เพิ่มเติมของเก่าให้เป็นเพลงเถา

เพลงระบำเริงอรุณ, เพลงนกเขามะราปี, เพลงระบำนพรัตน์, เพลงม่านมงคล, เพลงไกรลาศสำเริง, เพลงกฤดาภินิหาร, เพลงชมปัตตานี, เพลงชุมนุมเผ่าไท(5 เผ่า ไทยกลาง ไทยใหญ่ ไทยลานนา ไทยลานช้าง ไทยสิบสองจุไท ไทอาหม) เพลงระบำนก, เพลงระบำเทพบันเทิง, เพลงรำวงมาตรฐาน เพลงรำลงโขงสองฝั่ง( 6 เพลง ทำเฉพาะทำนอง ได้แก่ เพลงงามแสงเดือน รำมาซิมารำ ชาวไทย คืนเดือนหงาย ดวงจันทร์วันเพ็ญ และดอกไม้ของชาติ) เพลงแม่ศรีทรงเครื่อง(ใหม่) เพลงอัศวาลีลา, เพลงมยุราภิรมย์, เพลงมฤครำเริง, เพลงบันเทิงกาสร, เพลงระบำกุญชรเกษม, เพลงระบำชุดโบราณคดี, เพลงพม่าไทยอธิษฐาน ( 5 เพลง ได้แก่ เพลงระบำทวารวดี เพลงระบำศรีวิชัย เพลงระบำลพบุรี เพลงระบำเชียงแสน เพลงระบำสุโขทัย) เพลงไทยลาวปณิธาน, เพลงกินรีร่อน, เพลงพระเจ้าลอยถาดชั้นเดียว, เพลงระบำดอกบัว(ระบำปลา) เพลงระบำฉิ่ง, เพลงระบำดอกไม้บูชาครู, เพลงขอฝน, เพลงระบำเงือก, เพลงชุมนุมฉุยฉาย, เพลงระบำอู่ทอง, เพลงฟ้อนดวงดอกไม้, เพลงลาวกระทบไม้, เพลงฟ้อนเล็บ, เพลงจีนรำพัด, เพลงสีนวล, เพลงพลายปัตตานี, เพลงเทพบันเทิง, เพลงลาวรำดาบ, เพลงกินนรรำ, เพลงแขกบูชายัญ, เพลงระบำนันทอุทยาน ฯลฯ

เพลงเบ็ดเตล็ด

เพลงโหมโรงเอื้องคำ, เพลงเอื้องสาย, เพลงใบ้คลั่งชั้นเดียว(เพลงเร็ว) เพลงใบ้คลั่งชั้นเดียว(ลูกบท) เพลงเร็วทะวอย, เพลงเชิดแขก, เพลงช้ากลาง, เพลงสร้างเมือง, เพลงแดนป่า, เพลงเสมอพม่า, เพลงเสมอลาว, เพลงเสมอแขก, เพลงโอดลาว, เพลงโอดจีน, เพลงโอดมอญ, เพลงกราวกลาง, เพลงกล่อมพญาชั้นเดียว, เพลงม้าห้อ, เพลงลาวรำดาบ, เพลงโอ้ลาวครวญ, เพลงโฮมพุเตย, เพลงสังคีตสายใจไทย, เพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี, เพลงโหมโรงขับไม้บัณเฑาะว์, เพลงโหมโรงรัตนโกสินทร์สามชั้น, เพลงโหมโรงเทิด ส.ธ. ฯลฯ

เพลงไทยสากล

เพลงวันรัฐธรรมนูญ, เพลงวันชาติ, เพลงมหานิติ, เพลงยามรุ่ง, เพลงตื่นเถิด, เพลงวันปีใหม่, เพลงร่วมวงไพบูลย์, เพลงดอกไม้, เพลงในน้ำมีปลาในนามีข้าว, เพลงกราวอาสา ฯลฯ

ผลงานด้านละครวิทยุ

ท่านเป็นเจ้าของคณะตรีศิลป์ จัดแสดงละครวิทยุ บทละครที่แสดงให้สาระบันเทิงแก่เด็ก เป็นนิทาน นิยาย นิยายอิงประวัติศาสตร์ นิทานประกอบสังคีต ซึ่งมีบทเจรจาและบทขับร้องประกอบดนตรี ได้แก่ กั้นหยั่งคู่, วนาวัน, ผกามาศ, จุลวัน, นางพระยาชาวเกาะ, คลีโอพัตรา, สุวรรณสาม, สาวเรือนคำ, และเรื่องเบ็ดเตล็ดกว่า 30 เรื่อง

ผลงานด้านวิชาการ

แต่งหนังสือไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ ดุริยางคศาสตร์ไทย ภาควิชาการ ใช้สอนในโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ ศัพท์สังคีตการละเล่นของไทย การสืบสายดนตรีไทย การเล่นสักวา เรื่องเพลงชาติ เรื่องเพลงวันชาติ ดุริยสาส์น เครื่องสายไทย ปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์ชวา ไหว้ครู ดุริยเทพ คุรุเทพ ขับไม้ โหมโรงดนตรีไทย การบรรเลงปี่พาทย์ในพระราชพิธี คำอธิบายเพลงในหนังสือโน๊ตเพลงไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์จำหน่าย เรื่องดนตรีไทย ในหนังสือชุด Thailand คำอธิบายศัพท์ต่างๆในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรื่องสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ในด้านดุริยางคศิลป วิวัฒนาการวงปี่พาทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ดนตรีไทยสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ แต่งเพลงพร้อมบทร้อง หลักสูตรวิชาขับร้องเพลงไทยสำหรับนักเรียน เช่น เพลงหนีเสือ เพลงลาวสมเด็จ เพลงเต่ากินผักบุ้ง ฯลฯ ดนตรีกับชีวิต วงดนตรีประกอบการแสดงโขน ประวัติบุคคลในวงการดนตรีไทย เรื่องดนตรีไทยในหนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย เล่ม 1 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ดนตรีไทยภาคกลาง ในหนังสือศิลปกรรมไทย ฯลฯ

ผลงานด้านกวีนิพนธ์

ได้ประพันธ์เรื่องราวต่างๆทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น ภิญโญวาทนิยาย (นิยายชาดกกลอนสอนหญิง เป็นกาพย์ กลอน โคลง และฉันท์) ลิลิตอิหร่านราชธรรม เยือนสมุทรสงคราม เลือดสุพรรณ ทางสักวา โคลงกลบทหลงห้อง โคลงกลบทพรหมพักตร์ โคลงกลบทสักวา โคลงกลบทสาลิรี อ่านเป็นฉันท์สาลินี ถอดเรียงเป็นโคลงสี่สุภาพได้ โคลงกลบทฉบัง อ่านเป็นกาพย์ฉบัง ถอดเรียงเป็นโคลงสี่สุภาพได้ บทละครประวัติศาสตร์ เรื่องเกียรติศักดิ์ไทย ร่วมกับนายธนิต อยู่โพธิ์ และนางสุดา บุษปฤกษ์ รวมทั้งจัดทำเพลงประกอบการแสดง แต่งบทละครเรื่องรถเสน ฉากที่ 1 แต่งบทละครเรื่องราชาธิราชตอนสมิงพระรามอาสา ร่วมกับนายสุเทพ แสงสว่าง แต่งบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ ร่วมกับนายธนิต อยู่โพธิ์ มจ.หญิงพูนพิสมัย ดิศกุล และหม่อมแผ้ว สนิมวงศ์เสนี แต่งบทละคร ตอนพระอภัยมณีพบนางละเวง ร่วมกับหม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ร่วมแต่งและปรับปรุงบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก กับนายธนิต อยู่โพธิ์ และหม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนี แต่งบทละครเรื่องมโนราห์ ฉาก1และ5 แต่งบทละครพันทางประวัติศาสตร์ เรื่องศึกเก้าทัพ บทละครกระจายเสียงในโอกาสวันที่ระลึกของกรมศิลปากรหลายเรื่อง บทนิทานประวัติศาสตร์ ส่งกระจายเสียงของกรมศิลปากร บทละครเรื่องเศวตปักษี(The Phoenix ของสหประชาชาติ) บทรำโคม กีฬาแหลมทองครั้งที่ 1 บทร้องอวยพรต้อนรับในงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ที่กรมศิลปากรจัดแสดงตลอดมา แต่งบทละครเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ให้โรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร แสดงออกอากาศสถานีโทรทัศน์ กองทัพบกในรายการ นาฏกรรมไทย กาพย์ขับไม้กล่อม พระเศวตสุรคชาธาร บทร้อยกรองสดุดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งจารึกไว้ในฐานพระเจดีย์ยุทธหัตถี อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี บทถวายพระพรพระบรมศานุวงศ์ในโอกาสต่างๆ บทร้องเพลงไทย ประพันธ์ไว้จำนวนมากทั้งในการแสดงละคร บทร้องประกอบ เพลงระบำ บทร้องเนื่องในโอกาสต่างๆ บทร้องที่ประพันธ์ขึ้นทั่วไป บทร้องในละครวิทยุ และบทร้องเพื่อประกอบการเรียน มีประมาณกว่า 100 บท เช่น บทร้องเพลงนกเขาขะแมร์(เถา) บทร้องเพลงเทพไสยาสน์ 3 ชั้น บทร้องเพลงแป๊ะ(เถา) บทร้องเพลงพระเจ้าลอยถาด บทร้องเพลงโสมส่องแสง ฯลฯ

ครูมนตรี ตราโมท อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2476 ชีวิตครอบครัวของท่านมีความสุขราบรื่นตลอดมา มีทายาท 4 คน ได้แก่

1. นายฤทธี ตราโมท

2. นายศิลปี ตราโมท

3. นางดนตรี ตราโมท

4. นายญาณี ตราโมท



เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเกียรติคุณที่ท่านได้รับพระราชทานเป็นเกียรติแก่ตัวท่าน และวงศ์ตระกูลของท่านมีดังนี้

ประถมาภรณ์ช้างเผือก

ทุติยจุลจอมเกล้า

เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

เหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ 3 รัชกาลปัจจุบัน

เกียรติคุณที่ได้รับพระราชทาน คือ

ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2523

ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524

ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2526

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในประเภทวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปกรรม ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2524


ครูมนตรี ตราโมท เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านดนตรีและเพลงไทยเป็นเยี่ยมหาผู้ใดเทียบมิได้ สมควรที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทยอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น