จำนวนผู้เข้าชม

หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

การแสดงพื้นเมืองภาคใต้

การแสดงพื้นเมืองภาคใต้






ภาคใต้ของไทยติดต่อกับมาเลเซีย ซึ่งแต่ก่อนเรียกกันว่า มลายู ชนพื้นเมืองนั้นนับถือศาสนาอิสลาม ประกอบกับชาวไทยภาคใต้มีความใกล้ชิดกับประเทศใกล้เคียงมาก จึงมีสำเนียงในการพูดแตกต่างออกไปจากภาคอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ความเป็นคนไทยลดลง กลับจะทำให้เกิดความสำนึกในความเป็นไทยมากขึ้น ในเมื่อต้องอยู่ร่วมกันกับสังคมของคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ซึ่งก็มิได้เกิดปัญหาแต่อย่างใด ต่างก็อยู่อย่างสันติสุขมาตลอด การถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกันเป็นไปอย่างเหมาะสมกลมกลืนกันอย่างยิ่ง


ศิลปะแห่งการฟ้อนรำ ดนตรี และการเล่นการแสดงต่าง ๆของภาคใต้ ก็จัดว่ามีเอกลักษณ์เด่นชัดเฉพาะของตัวเอง ความอ่อนช้อย กระฉับกระเฉง และแม่นยำ มั่นใจในการแสดงออกซึ่งศิลปะทางด้านนี้ ทำให้สะท้อนภาพของการดำเนินชีวิตซึ่งต้องต่อสู้ทั้งภัยธรรมชาติและอื่น ๆ ทำให้เกิดความแข็งแกร่งในชีวิตจนดูออกจะแข็งกร้าวแต่ไม่ดุร้าย ความอ่อนโยนทั่วไปจะซ่อนเร้นอยู่กับท่วงทีซึ่งจริงจัง ขึงขังและเฉียบขาด จากการขับร้องตามสำเนียงท้องถิ่น ทำให้ทราบได้ว่าเน้นในเรื่องของจังหวะแม้ว่าจะต้องใช้การเอื้อนตามทำนองที่มีทั้งยาวและสั้น ก็ตามปฏิญาณในการเล่นเพลงบอก ซึ่งเป็นเพลงประเภทดำเนินคำกลอนทำให้ซาบซึ้งถึงคุณธรรมและแนวจริยธรรมของคนในท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์



ลักษณะทั่วไปทางสังคม


แผ่นดินอันเป็นส่วนภูมิภาคทางใต้ของประเทศไทย มีสภาพทางภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรทำให้ต้องประสบกับอากาศที่ร้อน มีลมแรง เพราะเป็นมรสุมแห่งคาบสมุทร นอกจากนั้นก็ยังมีความผันผวนของอากาศอยู่เสมอสายฝนที่ตกลงมาอย่างไม่รู้ตัวท่ามกลางแสงแดดที่แจ่มจ้าร้อนระอุ มีอยู่เป็นประจำ แม้จะมีฝนตกติดต่อกัน ๓ วัน ๓ คืนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสามารถพบเห็นได้อยู่บ่อยๆ สภาพทางเศรษฐกิจของภาคใต้คงจะทราบกันดีว่า ได้แก่เหมืองแร่และยางพาราซึ่งเป็นผลิตผลประจำท้องถิ่น รายได้ของชาวไทยภาคใต้แม้ว่าจะดีกว่าในภาคอื่นๆ แต่ค่าครองชีพก็ยังสูง จึงทำให้ชาวภาคใต้แข็งแกร่ง อดทน บึกบึน และเฉียบขาด


ชนชาวไทยในภาคใต้สมัยก่อนๆ มีประวัติยาวนาน หลักฐานทางด้านโบราณคดีหลายแห่งก็ระบุถึงอาณาจักรอันรุ่งเรืองทั้งเป็นแหล่งชุมชนที่หนาแน่น ในปัจจุบันประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ คือ ชุมพร ระนอง สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม ๑๔ จังหวัด สภาพของสังคมทั่วไปนั้นเกี่ยวข้องไปถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และศาสนาด้วย อารยธรรมที่ได้จากพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ทำให้บังเกิดศิลปกรรมขึ้นหลายๆ รูปแบบ อันเนื่องมาจากการรับวัฒนธรรมทั้งด้านวัตถุและจิตใจของกันและกันระหว่างท้องถิ่น จึงมีลักษณะของ การประสมประสานทางวัฒนธรรม อันจะเห็นได้จากความเชื่อถือในรูปของศาสนา ประเพณีนิยมแม้ว่าจะเพิ่งมีการแสดงออก เช่น การทรงเจ้าหรือการแห่เจ้าอันเป็นความนิยมของชาวจีน แต่ไม่ได้ขับกับความเชื่ออย่างไทยๆ อาจจะเป็นเพราะได้รับการสั่งสมบ่มศรัทธากันมานาน


การรับพระพุทธศาสนาจากอินเดีย ก็ได้รับโดยตรงไม่ได้ผ่านมาทางใด ดังนั้น บางสิ่งบางอย่างจึงกลับย้อนไปยังภาคกลาง ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกว่า พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้นิมนต์ปู่ครูนครศรีธรรมราชขึ้นไปบอกธรรมแก่ชาวเมืองสุโขทัย นอกจากนั้น ประเพณีบางอย่างก็ยังเป็นที่นิยมและได้รับความเคารพนับถืออย่างเคร่งครัด เช่น งานเดือนสิบ มีการทำขนมลา กวนข้าวทิพย์และมหรสพสมโภชต่าง ๆ บางท้องถิ่นมีการชักพระ แห่พระกันทางบกบ้าง ทางน้ำบ้าง พร้อมกันนั้นก็เป็นความสนุกสนานเพลิดเพลินของชาวบ้านไปด้วย จากการที่ต้องเหน็ดเหนื่อยตรากตรำทำงานกันมา กลางวันอาจจะมีการเล่นโนรา เพลงนา ลิเกป่า หรือตกกลางคืนอาจจะมีหนังตะลุง ตลอดจนสิ่งอื่นๆ ด้วย การเล่นพื้นเมืองเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นค่านิยมและสภาพทั่วไปทางสังคมของชาวใต้ได้ดี เช่น ความศรัทธาต่อพระศาสนาและความเชื่อเรื่องทำบุญด้วยความจริงใจ เบิกบานใจ และแม้ว่าจะมีงานบุญ งานกุศลก็ยังประกอบด้วยการเล่นพื้นเมืองของท้องถิ่น เพราะถือว่าการเล่นเหล่านั้นเป็นพุทธบูชา เช่น มีเทศน์มหาชาติทรงเครื่อง เล่นโนราบทชมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เพลงเรือสำหรับประเพณีชักพระ เพลงแห่นาคในงานอุปสมบท ฯลฯ

คณะโนราในอดีต


เนื่องจากสังคมท้องถิ่นภาคใต้มีเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ดังนั้น ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุด จึงมีการติดต่อกันเกือบทุกด้าน ก่อให้เกิดการประสานกันทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากการเล่นพื้นเมืองหลายอย่างซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างลึกซึ้ง เช่น กาหลอ รองเง็ง มะโย่ง สิละ ซัมเป็ง ลอแก สลาเปะ ฯลฯ การเล่นพื้นเมืองของชาวใต้ แม้ว่าจะมุ่งเน้นถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นก็ตาม แต่รสนิยมอย่างหนึ่งทีมี่อยู่ค่อนข้างสูงคือ การใช้ภาษาประกอบการเล่นที่สำคัญ การใช้เพลงเพื่อสื่อสารข่าวคราวก็มีอยู่ในภาคใต้คือ “เพลงบอก” ซึ่งแต่ก่อนใช้เป็นการบอกถึงเรื่องราวของกำหนดวันสำคัญทางศาสนา หรือทางประเพณีนิยม เช่น วันสงกรานต์ ก็แสดงถึงสภาพสังคมซึ่งจับกลุ่มกันอยู่เป็นกลุ่มๆ คนเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนจะเป็นผู้บอกกล่าวด้วยเพลงที่ใช้ภาษาและถ้อยคำที่ไพเราะแสดงถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคใต้ ซึ่งมิใช่ทำกันได้ง่ายนัก เพราะคนเจ้าบทเจ้ากลอนนั้น จะต้องมีความรู้รอบตัว โดยเฉพาะหลักธรรมของศาสนา เพราะนอกจากจะบอกกล่าวกำหนดการต่างๆ แล้ว ยังมีการพร่ำพรรณนาถึงธรรมะอันเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตอีกด้วย จากนั้นก็อาจเป็นคำอวยพรให้ผู้ฟังประสบแต่ความสุขความเจริญ


สรุปได้ว่า ลักษณะทั่วไปทางสังคมของชาวใต้นั้น แม้ว่าจะต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ธรรมชาติเป็นต้น แต่ก็ยังสามารถประดิษฐ์สิ่งบันเทิงต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเครียดในยามว่างได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น