จำนวนผู้เข้าชม

หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

นางลมุล ยมะคุปต์

นางลมุล ยมะคุปต์



นางลมุล ยมะคุปต์ หรืออีกชื่อหนึ่งที่บรรดาศิษย์ทั้งหลายจะขนานนามให้ท่านด้วยความเคารพรักอย่างยิ่งว่า คุณแม่ลมุล เป็นธิดาของร้อยโท นายแพทย์จีน อัญธัญภาติ กับ นางคำมอย อัญธัญภาติ (เชื้อ อินต๊ะ) เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2448 จังหวัดน่าน ในขณะที่บิดาขึ้นไปราชการสงครามปราบกบฏเงี้ยว (กบฏ จ.ศ.1264 ปีขาล พ.ศ. 2445)

การศึกษา

เริ่มต้นเรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนสตรีวิทยา เมื่ออายุได้ 5 ขวบ เรียนได้เพียงปีเดียวบิดานำไปกราบถวายตัวเป็นละคร วังสวนกุหลาย ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ซึ่งอยู่ในความปกครองของคุณท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์)

การฝึกหัดนาฏศิลป์ที่วังสวนกุหลายนั้น มีหลักและวิธีการอย่างเข้มงวดกวดขัน มีตารางฝึกตั้งแต่เช้าตรู่ และดำเนินตลอดทั้งวัน เช่น

05.00 น. เริ่มฝึกหัดรำเพลงช้า เพลงเร็วที่สนามหน้าพระตำหนัก เมื่อรำเพลงช้าเพลงเร็วจนจบกระบวนท่าแล้ว ผู้ฝึกหัดเป็นตัวพระจะแยกไปต้นเสา (ฝึกหัดเพื่อให้มีกำลังขาแข็งแรง) แล้วแยกไปเต้นแม่ท่ายักษ์ และออกกราว ผู้ฝึกหัดเป็นตัวนางก็จะได้แยกไปเต้นแม่ท่าลิง

07.00 น. พักอาบน้ำ

08.00 น. รับประทานอาหารเช้า

09.00 น. เริ่มเรียนวิชาสามัญ

12.00 น. พักกลางวัน

13.00 – 16.00 น. ซ้อมการแสดงทั้งโขนและละคร

16.00 น. เป็นต้นไป พักผ่อนตามอัธยาศัย

20.00 – 24.00 น. ฝึกซ้อมการแสดงเข้าเรื่อง ละครใน ละครนอก ละครพันทาง รวมทั้งโขน



การฝึกหัดนาฏศิลป์ดังกล่านี้ ผู้ฝึกจะต้องมีความอดทนและมีความตั้งใจจริงจึงจะสามารถปฏิบัติได้ดี ทั้งยังต้องมีพรสวรรค์เป็นพิเศษอีกด้วย นางลมุล ยมะคุปต์ เป็นผู้มีคุณสมบัติพร้อมทุกประการ จึงได้รับการคัดเลือกให้ฝึกหัดเป็นตัวพระตั้งแต่แรกเริ่ม ท่านครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการด้านนาฏศิลป์ ให้แก่ท่านมีดังนี้ คือ

1. หม่อมครูแย้ม หม่อมละครในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สอนบทบาทของตัวละครเอกทางด้านละครใน เช่น อิเหนา ย่าหรันฯ

2. หม่อมครูอึ่ง หม่อมละครในสมเด็จพระบัณฑูรฯ (เข้าใจว่า คือกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ) สอนในเรื่องของเพลงหน้าพาทย์ และบทบาทตัวเอก ตัวรอง

เช่น บทบาท พระวิศณุกรรม พระมาตุลี บทบาทของตัวยักษ์ เช่น อินทรชิต รามสูร ฯลฯ

3. หม่อมครูนุ่ม หม่อมในกรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ (พระองค์เต้าเนาวรัตน์) เดิมเป็นละครในสมเด็จพระบัณฑูรฯ ท่านเป็นครูฝ่ายนาง สอนบทบาทที่เกี่ยวกับ

ตัวนาง เช่น ศุภลักษณ์อุ้มสม และบทบาทของตัวนางที่เป็นตัวประกอบ



ท่านครูที่สอนพิเศษ มีดังนี้คือ

1. ท้าววรจันทร์ (วาด) ในรัชกาลที่ 4 สอน เพลงช้านารายณ์ ซึ่งใช้สำหรับการรำบวงสรวงเทพยดาโดยเฉพาะ

2. เจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 สอนบทบาทตัวเอกในละครพันทาง เรื่อง ลิลิตพระลอ พญาแกรก พญาวังสัน โดยเฉพาะบทบาทของพระลอทุกตอน

3. เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 สอนบทบาทตัวเอกละครในบางตัว เช่น บทบาทของตัวย่าหรัน ตอนย่าหรันลักนางเกนหลง

4. เจ้าจอมมารดาสาย ในรัชกาลที่ 5 สอน ท่ารำฝรั่งคู่ ทั้งพระและนาง

5. เจ้าจอมละม้าย ในรัชกาลที่ 5 สอน ท่ารำ ฝรั่งคู่ ทั้งพระและนาง

6. พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เป็นผู้ทบทวนความรู้ และเกร็ดนาฏศิลป์ด้านต่าง ๆ และเป็นผู้ประกอบพิธีครอบ มอบกรรมสิทธิ์ให้เป็นครูเมื่ออายุได้ 18 ปี

7. คุณนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) เป็นผู้ทบทวนและฝึกหักเพิ่มเติม วิชาการด้านนาฏศิลป์ ในระยะหลังต่อมา

8. ท่านครูหงิม เป็นครูผู้เชียวชาญในบทบาทของละครนอก และละครพันทางอย่างยิ่ง เป็นผู้ฝึกสอนบทบาทของตัวเจ้าเงาะ ในเรื่องสังข์ทองทุกตอน

เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทเพลงหน้าพาทย์ศักดิ์สิทธิ์ คือ เพลงกลมเงาะ และสอนบทบาทตัวเอกในละครพันทางเรื่อง ราชาธิราช เช่น สมิงพระราม

สิมงนครอินทร์ ราชาธิราช มิงรายกะยอชวา พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ฯลฯ

วิชาการด้านนาฏศิลป์ที่ได้รับการถ่ายทอดจากท่านครู

1. เพลงช้า เพลงเร็ว ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

2. เพลงเชิด เสมอ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

3. พญาเดิน ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

4. เหาะ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

5. โคมเวียน ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

6. เสมอลาว ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูหงิม

7. เสมอแขก ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูหงิม

8. เสมอมอญ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูหงิม

9. เสมอพม่า ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูหงิม

10. เสมอจีน ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

11. เสมอฝรั่ง ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

12. สก๊อต (ระบำฝรั่ง) ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

13. รำมะนา (ระบำฝรั่ง) ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

14. ฉายกริช (รำกริชอิเหนา) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

15. ฉากพระขรรค์ (รำตรวจพลถือพระขรรค์) ได้รับการถ่ายทอดจาก ท้าววรจันทร์ (วาด)

16. ฉากกระบองยาว (รำตรวจพลถือกระบองยาว) ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

17. ฉากดาบ(รำตรวจพลถือดาบ) ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

18. รำตาว (ตาวเป็นมีดยาวชนิดหนึ่ง) ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

19. รำกริชคู่สะระหม่า (รบกริชอิเหนา) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้มและหม่อมครูอึ่ง

20. รำกริชเดี่ยวสะระหม่า (รบกริชอิเหนาตอนบวงสรวง) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

21. รำกริชมลายูสะระหม่าแขก ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

22. รำดาบคู่ ได้รับการถ่ายทอดจาก เจ้าจอมมารดาเขียน ร.4

23. รำกระบี่ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม หม่อมครูอึ่ง

24. รำทวน ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม หม่อมครูอึ่ง

25. รำหอกซัด (ตอนศึกกระหมังกุหนิง) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม หม่อมครูอึ่ง

26. รำง้าว (รำอาวุธเดี่ยวถวายหน้าพระทีนั่ง) ได้รับการถ่ายทอดจากหม่อมครูแย้ม หม่อมครูอึ่ง

27. ไม้จีน 14 ไม้ (ท่ารบอาวุธจีน) ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

28. ไม้บู้จีน (ไม่รบของตัวกามนีในละครเรื่องราชาธิราช) ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

29. กราวใน ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

30. กราวนางยักษ์ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

31. รำเชิดฉิ่งตัดดอกไม้ (อิเหนาตัดดอกลำเจียก) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

32. รำเชิดฉิ่งลักนาง (ย่าหรันลักนางเกนหลง) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

33. รำเชิดฉิ่งจับม้า(พระมงกุฎจับม้าอุปการในเรื่องรามเกียรติ์) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

34. รำเชิดฉิ่งแผลงศร ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

35. รำฝรั่งคู่ (การรำอวดฝีมือระหว่างตัวพระเอก-นางเอกเช่น อรชุนเมขลาอุณรุทอุษา ฯลฯ

ได้รับการถ่ายทอดจาก เจ้าจอมมารดาสายและเจ้าจอมมารดาละม้าย ในรัชกาลที่ 5

36. รำฝรั่งเดี่ยว (การร่ายรำอวดฝีมือของตัวเอก เช่น อิเหนารำกริชตอนใต้บน ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

37. ลงสรงปีพาทย์ (รำลงสรงใช้ปี่พาทย์บรรเลง เพลงโทนไม่มีบทร้อง) ลงสรงสุหร่าย (เพลงทรงสุหร่ายมีบทร้อง ลงสรงโทน (เพลงโทนมีบทร้อง) โทนม้า (เพลงโทนชมม้า) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

38. ฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง (สอนนางรำเบิกโรงตามบทพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 4) ได้รับการถ่ายทอดจาก เจ้าจอมละม้ายใน รัชกาลที่ 5

39. ตระนิมิต ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

40. ตระบองกัน ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

41. ชำนาญ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

42. รำปฐมหางนกยูง (พระมาตุลีจัดพล) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

43. โลม-ตระนอน ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

44. สาธุการ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

45. กลมกิ่งไม้เงินทอง (รำเบิกโรงถือกิ่งไม้เงินทองใช้หน้าพาทย์เพลงกลม)ได้รับการถ่ายทอดจาก เจ้าจอมละม้ายใน รัชกาลที่ 5

46. เสมอมาร ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

47. เสมอเถร ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

48. บาทสกุณี ได้รับการถ่ายทอดจาก เจ้าจอมมารดาทับทิม

49. เชิดฉาน ได้รับการถ่ายทอดจาก เจ้าจอมมารดาทับทิมใน ร. 5 และหม่อมครูแย้ม

50. รุกรัน ได้รับการถ่ายทอดจาก พระยานัฏกานุรักษ์

51. เสมอข้ามสมุทร ได้รับการถ่ายทอดจาก พระยานัฏกานุรักษ์

52. กลมพระขรรค์ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

53. เพลงช้านารายณ์ ได้รับการถ่ายทอดจาก ท้าววรจันทร์ (วาด) ใน ร.4

54. เชิดฉิ่งศรทะนง ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

55. พราหมณ์เข้า ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

56. พราหมณ์ออก ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

57. ตระนารายณ์ (หน้าพาทย์ตระนิมิตรำท่านารายณ์) ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูแย้ม

58. ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

59. ตระบรรทมไพร ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

60. ตระสันนิบาต ได้รับการถ่ายทอดจาก หม่อมครูอึ่ง

61. กลมเงาะ ได้รับการถ่ายทอดจาก ท่านครูหงิม

นอกจากวิชาต่าง ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากท่านครูโดยตรงแล้วยังมีท่ารำและกระบวนรำอีกมากมายที่อาศัยจำจากสิ่งเคยพบเห็นซึ่งตรงกับสำนวนที่ว่า

ครูพักลักจำ เช่นกระบวนท่ารำแบบพม่า มอญ หลายชุดที่ได้ค้นคิดประดิษฐ์ขึ้น

ชีวิตการศึกษาในวังสวนกุหลาบ ดำเนินไปด้วยดีและประสบผลสำเร็จสูงสุด คือ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวเอก ตั้งแต่เริ่มการฝึกหัดเมื่ออายุ 6 ขวบ

จนกระทั่งกราบบังคมทูลลาจากวังสวนกุหลาบไปรับพระราชทานสนองพระคุณเป็นละครใน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

วังเพชรบูรณ์ ร่วมกับเพื่อนละครอีกหลายท่าน ท่านได้ออกแสดงเป็นตัวเอกหลายครั้งหลายครา เท่าที่จดจำได้ก็คือ ได้ออกแสดงครั้งแรกในชีวิตเรื่องสังข์ทอง

โดยแสดงเป็นตัวหกเขย อยู่ปลายแถว ต่อมาแสดงเป็นพระมาตุลี จึงได้หน้าพาทย์ปฐมเพราะจะต้องไปจัดทัพ และได้เลื่อนขึ้นเป็นพระสังข์ทองต่อมา

ขณะที่อยู่ในวังสวนกุหลาบนั้น ท่านได้รับเกียรติสูงสุดให้เป็นตัวนายโรงของทุกเรื่องทั้งละครนอก ละครใน ละครพันทาง เช่น


ละครใน

เรื่องอิเหนา แสดงเป็น อิเหนา สียะตรา สังคามาระตา วิหยาสะกำ

เรื่องอุณรุท แสดงเป็น อุณรุท

เรื่องรามเกียรติ์ แสดงเป็น พระราม พระมงกุฎ อินทรชิต

นารายณ์สิบสอง แสดงเป็น พระนารายณ์ พระคเณศ


ละครนอก

เรื่องสังข์ทอง แสดงเป็น เขยเล็ก พระวิศณุกรรม พระมาตุลี พระสังข์ เจ้าเงาะ

เรื่องเงาะป่า แสดงเป็น ซมพลา ฉเนา

เรื่องสังข์ศิลป์ชัย แสดงเป็น สังข์ศิลป์ชัย ศรีสัณพ์

เรื่องพระอภัยมณีแสดงเป็น พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สุดสาคร อุศเรน เจ้ามหุต


ละครพันทาง

เรื่องลิลิตพระลอ แสดงเป็น พระลอ

เรื่องราชาธิราช แสดงเป็น สมิงพระราม สมิงนครอินทร์

เรื่องขุนช้างขุนแผน แสดงเป็น พระพันวษา พระไวย พลายบัว

ขณะที่ย้ายออกจากวังสวนกุหลาย มาอยู่ในวังเพชรบูรณ์นั้น ท่านได้เติบโตมากแล้วชีวิตในวังเพชรบูรณ์เปลี่ยนแปลงไปจากชีวิตในวังสวนกุหลาบหลายประการทั้งนี้เนื่องจาก ทูลกระหม่อมเจ้าจุฑาธุช ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้พวกละครมีความรู้ความสามารถที่จะออกไปเป็นแม่บ้านที่ดีมิใช่เพียงแต่รำละครได้เท่านั้น ครั้งแรกที่เข้าไปรับสนองพระกรุณาอยู่นั้น ตำหนักที่ประทับเพิ่งจะเริ่มลงมือก่อสร้าง ทูลกระหม่อมฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกเรือนกินนรรำ ประทานให้เป็นที่อยู่ของพวกละคร เรือนกินนรรำนี้ ตั้งชื่อตามเพลงหน้าพาทย์เพลงหนึ่ง และมีสิ่งก่อสร้างอีกหลายอย่างที่ทรงตั้งชื่อหน้าพาทย์หรือเพลงต่างๆ

ภายหลังในเรือนกินนรรำ แบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ เพื่อให้บรรดานางละครพักอาศัย ห้องละครมีอุปกรณ์พร้อมสิ้นทุกอย่าง เปรียบได้กับหอพักในปัจจุบัน และที่สำคัญคือทุกห้องจะมีที่ประดิษฐานภาพพระพุทธรูป ภาพศีรษะพระภรตฤษี พร้อมทั้งคำนมัสการเพื่อให้พวกละครได้บูชากราบไหว้ คำนมัสการได้นำมาถ่ายทอดให้กับศิษย์หลายคน ซึ่งเป็นครูอยู่ในวิทยาลัยนาฏศิลป์

ชีวิตประจำวันในวังเพชรบูรณ์ เริ่มด้วยในตอนเช้าตรู่ทุกๆวัน พวกละครซึ่งมีหัวหน้าควบคุม 4 ท่าน จัดแบ่งเป็นหมู่ มีสมาชิกหมู่ละ 30 คน

ในแต่ละวัน 2 หมู่ จะผลัดกันควบคุมสมาชิกไปเก็บดอกไม้ (ดอกพุทธชาด) แล้วนำมาร้อยกรองเป็นพวงมาลัย วันละ 2 พวง เพื่อนำขึ้นไปทูลเกล้าฯ ถวายทูลกระหม่อมฯทั้งนี้เป็นพระประสงค์ที่จะหัดให้พวกละครได้ทำการฝีมือ หลังจากนั้นพวกละครรุ่นใหญ่ จะฝึกหักการรำเพลงช้า เพลงเร็วให้กับละครรุ่นน้อง เพื่อฝึกหัดการเป็นครูเสร็จสิ้น การสอนละครรุ่นใหญ่ จะลงฝึกซ้อมการแสดงจากบรรดาท่านครูผู้ใหญ่ เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมถึงเวลาพัก พวกละครจะออกไปฝึกหัดการเรือนกับบรรดาข้าหลวงห้องเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่สมัครใจที่จะฝึกเครื่องคาว เพราะมีโอกาสได้ออกนอกบริเวณ คุณครูลมุล ก็เป็นผู้หนึ่งที่สมัครใจที่จะไปฝึกการปรุงเครื่องคาว คุณครูเฉลยท่าเดียวเท่านั้นที่สมัครใจฝึกปรุงเครื่องหวาน ซึ่งไม่มีโอกาสได้ออกนอกบริเวณ ในบางครั้งทูลกระหม่อมฯ จะโปรดให้พวกละครหัดตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มแบบง่ายๆ เช่น สนับเพลาจีน ก็โปรดให้พวกละครเป็นผู้ตัดเย็บถวาย โดยอยู่ในความดูแลของคุณนางข้าหลวง

ชีวิตในวังระยะนั้น พวกละครเห็นว่าน่าเบื่อหน่าย เพราะมีงานที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลาครั้งเมื่อเติบโตมีครอบครัวแล้ว จึงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุดมิได้ การแสดงละครในวังเพชรบูรณ์ ก็ดำเนินไปตามปกติ เช่นเดียวกับวังสวนกุหลาบ คือ มีการซ้อมเข้าเรื่องในตอนกลางคืนทุกวัน สับเปลี่ยนไปตามพระประสงค์ว่าจะให้ซ้อมเรื่องใด ตอนใด โดยเฉพาะละครดึกดำบรรพ์นั้นโปรดเป็นพิเศษ ได้แสดงหลายครั้ง และควบคุมอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องฉาก แสดงสี แม้เรื่องการแต่งตัวละครทุกครั้งจะทรงด้วยพระองค์เอง และอีกอย่างหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ ทรงโปรดให้พวกละครทุกคนหัดตีฆ้องใหญ่เพื่อฝึกให้มีความเข้าใจเรื่องทำนองเพลง และจังหวะ อันเป็นคุณประโยชน์อย่างมาก กิจการละครในสำนักวังเพชรบูรณ์ดำเนินไปด้วยความราบรื่นระยะเวลาอันสั้น เพียง 3 4 ขณะที่ น.ส. ลมุล มีอายุได้ประมาณ 20 ปี ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าจุฑาธุชก็สิ้นพระชนม์ ชีวิตละครที่เคยสุขสบายมาโดยตลอดก็กับวูบลงทันที เปรียบเหมือนแพแตกต่างคนก็ต่างแยกย้ายออกจากวัง กลับไปอยู่กับญาติมิตรตามเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น